Dnb Thailand

การบรรเทาความเสี่ยง (Mitigate Risk) คืออะไร?
การบรรเทาความเสี่ยง (Mitigate Risk) เป็นขั้นตอนสำคัญในการจัดการความเสี่ยง หมายถึงว่าการวางแผนและหาวิธีลดความเสี่ยงหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเป้าหมายของโครงการ เพื่อช่วยให้ธุรกิจหรือองค์กรสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการบรรเทาความเสี่ยงคือการรวบรวมเทคนิคและกลยุทธ์ต่างๆ ที่ใช้เพื่อลดระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากภัยคุกคามและเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน องค์กรจะสามารถเตรียมความพร้อมและลดโอกาสของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเป้าหมายของการบรรเทาความเสี่ยงไม่ใช่การกำจัดภัยคุกคามทั้งหมด แต่เป็นการวางแผนเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ
- การโจมตีทางไซเบอร์
- ภัยธรรมชาติ เช่น พายุ
- ความไม่แน่นอนทางการเงิน
- ความรับผิดทางกฎหมาย
- ข้อผิดพลาดในการบริหารเชิงกลยุทธ์
- และอุบัติเหตุต่างๆ
จากตัวอย่างที่เราได้กล่าวถึงไปข้างต้น คุณจะเห็นได้ว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอยู่รอบตัวธุรกิจ ดังนั้นการวางแผนเพื่อบรรเทาความเสี่ยงจึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ
ทำไมการบรรเทาความเสี่ยง (Mitigate Risk) จึงสำคัญ?
เมื่อความเสี่ยงเกิดขึ้น หากองค์กรไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือ ปัญหาเล็ก ๆ อาจบานปลายกลายเป็นวิกฤตร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างแน่นอน ไม่จะสร้างภาระทางการเงิน และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจทำให้องค์กรต้องปิดตัวลง ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คือธุรกิจต้องมีแผนบรรเทาความเสี่ยง (Mitigate Risk) ที่ชัดเจนและรัดกุมไว้ล่วงหน้า หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน องค์กรจะมีแผนสำรองเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
โดยการบรรเทาความเสี่ยงมุ่งเน้นไปที่การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจุดประสงค์ของแผนบรรเทาความเสี่ยงคือการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด และยอมรับความจริงว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันบางอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เมื่อองค์กรตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้แล้ว ผู้นำต้องมั่นใจว่าแผนบรรเทาความเสี่ยงได้รับการเตรียมพร้อมอย่างดีและพร้อมใช้งานในทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการวางแผนเพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
การสร้างแผนบรรเทาความเสี่ยงมีกระบวนการที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานในการจัดทำแผนบรรเทาความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ได้แก่ การระบุความเสี่ยงที่เกิดซ้ำ การให้ความสำคัญกับความเสี่ยงบางประเภท และการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ พร้อมทั้งติดตามผลเพื่อให้แน่ใจว่าแผนได้ผลตามที่คาดหวัง
กระบวนการวางแผนเพื่อบรรเทาความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ
ระบุความเสี่ยง ทำความเข้าใจและประเมินภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กร
การระบุความเสี่ยง เป็นขั้นตอนแรกของการวางแผนเพื่อบรรเทาความเสี่ยง ซึ่งเป็นกระบวนการทำความเข้าใจว่ามีความเสี่ยงใดบ้างที่อาจเกิดขึ้น และประเมินภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กร การดำเนินงาน และพนักงาน โดยการพิจารณาความเสี่ยงในหลากหลายด้านเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ (เช่น ความเสี่ยงด้านข้อมูลและการละเมิดข้อมูล) ความเสี่ยงทางการเงิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์เสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้การดำเนินงานขององค์กรต้องหยุดชะงัก
วิเคราะห์ความเสี่ยงแต่ละประเภทและโอกาสในการเกิดขึ้น เพื่อประเมินและจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยง
เมื่อระบุความเสี่ยงแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการประเมินโอกาสและผลกระทบของความเสี่ยงแต่ละประเภท โดยพิจารณาว่าความเสี่ยงนั้นจะส่งผลต่อการดำเนินงาน พนักงาน และการเงินของธุรกิจอย่างไร จากนั้นจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยง โดยเน้นที่ความเสี่ยงที่มีโอกาสสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ
พัฒนาแผนการบรรเทาความเสี่ยง เพื่อจัดการความเสี่ยงแต่ละรายการตามความสำคัญที่ได้กำหนดไว้
เมื่อทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดลำดับความสำคัญแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสร้างแผนเพื่อจัดการความเสี่ยงแต่ละรายการ ซึ่งอาจรวมถึงการวางกลยุทธ์ต่าง ๆ เสริมด้วย เช่น การเสริมมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์, การกระจายการลงทุน, การฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับขั้นตอนฉุกเฉิน หรือการจัดทำระบบสำรองข้อมูลที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับระดับความเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนไปตามปัจจัยต่างๆ ดังนั้น ขั้นตอนการติดตามในแผนการบรรเทาความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การติดตามความเสี่ยงช่วยให้องค์กรสามารถทราบได้ว่าเมื่อใดที่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือลดลง และสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสม การมีเกณฑ์วัดผลที่ชัดเจนในการติดตามความเสี่ยงจะช่วยให้องค์กรสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องได้
ดำเนินการตามแผนการบรรเทาความเสี่ยงอย่างเป็นระบบภายในองค์กร
เมื่อประเมิน, จัดลำดับความสำคัญ และวิเคราะห์ความเสี่ยงเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลานำแผนการบรรเทาความเสี่ยงมาใช้อย่างเป็นระบบ ซึ่งควรเลือกมาตรการที่เหมาะสมมาใช้ในองค์กร ในส่วนของพนักงานควรได้รับการบรรยายสรุปและฝึกอบรมเกี่ยวกับทุกส่วนของแผนการบรรเทาความเสี่ยง โดยการทดสอบและวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าแผนยังคงทันสมัยและเป็นไปตามข้อกำหนด
การประเมินกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องจะช่วยเผยให้เห็นจุดอ่อน และส่งเสริมการตัดสินใจที่รอบคอบยิ่งขึ้น